ผู้สนับสนุน

Saturday, December 27, 2008

ดูหนังด้วย Gom Player พร้อมด้วยฟังค์ชันเบื้องต้น

การใช้งาน Gom Player แบบง่ายๆ ที่สุด ถ้าเราจะดู DVD สักเรื่อง เมื่อใส่แผ่นเข้าในเครื่องและแผ่นอ่านเสร็จแล้ว ถ้ามีการตั้ง autorun ไว้ จะมีหน้า่ต่างขึ้นมาดังรูป

ซึ่งหน้าต่างนี้แจ้งให้ผู้ใช้ทราบว่าตอนนี้มีการโหลดแผ่นหนังดีวีดีเข้ามาในระบบ ต้องการจะให้ใช้โปรแกรมตัวไหนเปิดดี ซึ่งค่าปกติก็คือตัวแรก Windows Media Player เราต้องการให้ใช้ GOM Player เปิดก็คลิกที่ Player DVD video using GOM Player แล้วคลิก OK ได้เลย


โปรแกรมก็จะเริ่มเล่นหนังในแผ่น อันที่จริงแล้วจะมีเมนูของดีวีดีขึ้นมาก่อนเหมือนกับเครื่องเล่นดีวีดีทั่วไปแหละครับ แต่ผมมาจับภาพเอาตอนที่มันเริ่มเล่นหนังไปแล้วจึงได้ภาพออกมาแบบนี้

ต่อไปมาดูกันว่าการเปิดไฟล์หรือแผ่นจากโปรแกรมใช้กันยังไง

หลังจากเปิด GOM Player ขึ้นมาแล้ว ให้คลิกขวาที่ตรงกลางหน้าต่างจะมีเมนูขึ้นมาดังภาพ
เปิดไฟล์ธรรมดาทั่วไป คลิกที่ตัวแรกเลยครับ Open File(s) ... จะเข้าไปค้นหาไฟล์ที่ต้องการเปิดเหมือนกับเปิดไฟล์ในโปรแกรมทั่วๆ ไป (ที่กำกับอยู่ข้างหลังเป็นคีย์ลัดนะครับ จำไว้ใช้ก็ได้ เช่น Open File(s)... ใช้คีย์ F2 โดยไม่ต้องคลิกเปิดเมนูขึ้นมา เมนูตัวอื่นก็ดูคีย์ลัดได้เลย)

ถ้าไปที่เมนู Open ก็จะเข้าไปเมนูย่อย ให้เราเลือกได้ว่าจะเปิดอะไร เช่น Easy Browser, File(s), URL, Directory แล้วก็จำพวก DVD ถ้าเป็นไดร์ฟ CD/DVD ROM ถ้ามีไดร์ฟเดียว มีคีย์ลัดให้เลยคือ F12 แต่ถ้ามีหลายไดร์ฟ เหมือนเครื่องผม คีย์ลัด F12 ก็จะใช้เปิดได้แค่ไดร์ฟแรก ส่วนไดร์ฟต่อมาก็ต้องเปิดผ่านเมนูเอา
ตรงนี้เป็นส่วนของการเปิดไฟล์หรือแผ่นนะครับ

ทีนี้มาดู Payback กันบ้าง เอาหลักๆ ใช้กันบ่อย ๆ
เล่นหรือหยุดชั่วคราว ใช้ Space Bar
เลิกเล่นเลย ใช้ Ctrl+Space
ลดความเร็ว ใช้ X
เร่งความเร็วใช้ C
ความเร็วปกติใช้ Z
ถอยหลัง 10 วิ ใช้ ลูกศรซ้าย
เดินหน้า 10 วิ ใช้ ลูกศรขวา
ถอยหลัง 60 วิ ใช้ Ctrl+ลูกศรซ้าย
เดินหน้า 60 วิ ใช้ Ctrl+ลูกศรขวา
ถอยหลัง 300 วิ ใช้ Shift+ลูกศรซ้าย
เดินหน้า 300 วิ ใช้ Shift+ลูกศรขวา

ฟังค์ชันตัวอื่นก็สำรวจดูครับว่าทำอะไรได้บ้าง



ที่ใช้บ่อยอีกตัว ก็คือการปรับภาพวีดิโอให้น่าดูึ เพราะการเปิดหนังในเครื่องคอมพิวเตอร์นั้น ธรรมดาแล้วภาพค่อนข้างจะมืดทำให้ดูไม่ได้อรรถรสเท่าที่ควร GOM Player สามารถปรับแต่งได้ง่ายๆ เอาที่ใช้บ่อยๆ นะครับ
หลังจากเปิดวีดิโอแล้ว ใช้คีย์ลัดปรับแต่งได้ดังนี้

ลดความสว่าง ใช้ E
เพิ่มความสว่าง ใช้ R
ลดความคม ใช้ T
เพิ่มความคม ใช้ Y
ลดโทนบิทสี ใช้ U
เพิ่มโทนบิทสี ใช้ I
ลดความเข้มของบิทสี ใช้ O
เพิ่มความเข้มของบิทสี ใช้ P
รีเซตกลับไปใช้ค่าเดิม ใช้ Q

นอกจากนี้ ปุ่มที่ใช้บ่อยๆ ก็มี เช่น
F8 เปิด Player List
ลูกศรขึ้น-ลง ใช้สำหรับเพิ่ม-ลดเสียง
เป็นต้น
ถ้าจะอธิบายลูกเล่นของ Gomplayer ก็เยอะมาก คุยอยู่สามวันสามคืนไม่รู้จะจบหรือเปล่้า เอาเป็นว่า นอกจากพวกนี้แล้วก็ไปลองดูกันในเมนูก็แล้วกันนะครับ

แฮปปี้นิวเยียร์ทุกท่านครับ

Wednesday, December 24, 2008

GOM Player โปรแกรมดีๆ ของฟรีใครว่าไม่มีในโลก

วันนี้จะมาแนะนำโปรแกรมมีเดียเพลเยอร์ดีๆ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ผู้พัฒนาเขาแจกมาให้ใช้กันฟรีๆ (อะไรจะใจดีขนาดน้านน) โปรแกรมมีเดียเพลเยอร์ ก็คือโปรแกรมที่ใช้สำหรับการดูภาพยนต์จากแผ่นวีซีดี ดีวีดี หรือจากไฟล์ภาพยนต์โดยตรง ซี่งทุกวันนี้มีไฟล์ภาพยนต์หลากหลายรูปแบบมาก จากเดิมๆ ที่มีไฟล์พวก mpeg (mpg), mov, avi. wmv ยังมีไฟล์จำพวก 3gp ที่ใช้กันในมือถือส่วนมาก หรือไฟล์บีบอัดตระกูล avi เช่น xvid, divx ฯลฯ หรือไฟล์รูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ เยอะแยะไปหมด โปรแกรมมีเดียเพลเยอร์ยังสามารถฟังเพลง ฟังวิทยุออนไลน์ได้อีกด้วย ตามธรรมดาแล้ว เครื่องที่ลงวินโดวส์ของไมโครซอฟต์จะมีโปรแกรม Windows Mediaplayer ติดมากับวินโดวส์ด้วย ถึงอย่างไรก็ตาม บางคนก็อาจจะไม่ชอบใช้โปรแกรมดังกล่าวสักเท่าไหร่ แต่ก่อน มีโปรแกรมดูหนัง เช่น xing mplayer หรือที่ฮิตๆ ก็เป็นพวก windvd เป็นต้น ซึ่งโปรแกรมเหล่านี้ ส่วนมากที่ใช้ๆ กันก็เป็นติดตั้งใช้งานโดยการแครกโปรแกรมไม่ได้ซื้อลิขสิทธิ์มาใช้โดยตรง
แต่ปัจจุบัน โปรแกรมมีเดียเพลเยอร์ที่แจกมาให้ใช้ฟรีๆ มีเยอะมาก แถมโปรแกรมพวกนี้ยังมีลูกเล่นพิเศษปรับแต่งได้สุดยอดกว่าโปรแกรมพวกเดิมๆ เสียอีก
สำหรับ Gomplayer เป็นโปรแกรมแรกที่จะแนะนำ ซึ่งโปรแกรมนี้สามารถไปดูรายละเอียดของโปรแกรมได้ที่เว็ปไซต์ของผู้พัฒนาได้ที่ gomlab.com ซึ่งปัจจุบันพัฒนาโปรแกรมมาจนถึงรุ่น 2.1.14.4525 แล้ว ซึ่งสามารถดาวโหลดโปรแกรมรุ่นล่าสุดได้ที่ http://www.gomlab.com/eng/GMP_download.html ขนาดไฟล์เล็กๆ แค่ 4 เมกกว่าเองครับ แต่ความสามารถของโปรแกรมเหนือชั้นจริงๆ
ต่อไปก็มาดูวิธีติดตั้งกันก่อนครับ

หลังจากดาวน์โหลดไฟล์มาแล้วให้ดับเบิลคลิกเปิดไฟล์ติดตั้ง

หน้าแรกเป็นหน้าต้อนรับ คลิก Next ไปเลย

หน้าต่อไปเป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ของโปรแกรม คลิก I Agree

ต่อไปเป็นการกำหนดส่วนประกอบของโปรแกรมที่จะติดตั้ง ใช้ค่าปกติที่ตั้งมาให้แล้ว ก็ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร คลิก Next > ได้เลย

หน้าต่อมาเป็นส่วนประกอบเพิ่้มเติมให้เลือกติดตั้งทูลบาร์ของกูเกิ้ลในบราวเซอร์ ถ้าไม่ต้องการติดตั้งก็คลิกเช็คบอกซ์ออกเสีย แล้วคลิก Next >

ต่อไปเป็นการกำหนดโฟลเดอร์ที่จะเก็บไฟล์ของโปรแกรม ซึ่งก็ใช้ค่าที่ตั้งมาให้แล้ว คลิก Install เพื่อทำการติดตั้งได้เลย


โปรแกรมก็จะเริ่มติดตั้งลงไปในระบบโดยแสดงความคืบหน้าของการติดตั้งให้เห็น

เมื่อเสร็จแล้วก็จะมีหน้าต่างแจ้งขึ้นมา คลิก Finish เพื่อจบการทำงานและเปิดโปรแกรมขึ้นมา

หลังจากติดตั้งเสร็จแล้ว เมื่อเรียกโปรแกรมขึ้นมาใช้งานครั้งแรกจะมีขั้นตอนของการคอนฟิคโปรแกรมนิดหน่อย ตามนี้ครับ

หน้าแรกเป็นการกำหนดโหมดของโปรแกรม ถ้าเครื่องสเป็คไม่ค่อยสูง เลือกเป็น Normal Mode ก็ได้ แต่ถ้าสเป็คค่อนข้างจะดีหน่อย ก็โดยทั่วไป ใช้ High-Quality Mode ดีกว่าครับ เลือกเสร็จแล้ว คลิก Next >

ต่อไปเลือกคุณภาพการแสดงผลกับซับไตเติลของภาพยนตร์ คลิก Next> ไปเลยครับ

ต่อไปเป็นการกำหนดระบบเสียง ถ้าใช้ลักษณะการต่อเครื่องเสียงธรรมดา ก็ใช้ 2 chennel แต่ถ้าระบบลำโพงเป็น 4 Chennel หรือ 5.1 Chennel หรือ S/PDIF ก็เลือกให้ถูกต้องตามระบบทีใช้ แล้วคลิก Next >

ต่อมาเป็นการกำหนดค่า Extentions คือการตั้งให้โปรแกรมเปิดไฟล์ต่างๆ อัตโนมัติ โดยดับเบิลคลิกที่ไฟล์ได้เลย ซึ่งค่าที่ตั้งไว้จะกำหนดไว้ที่ไฟล์ avi, mp4 และ DVD ถ้าเราต้องการให้เปิดไฟล์ภาพยนตร์ทั้งหมดด้วย Gom ก็ให้เลือกให้หมดเลย แล้ว คลิก Next >






หน้านี้เลือกขนาดฟอนต์ของซับไตเติลและรูปแบบการแสดงผล คลิก Next > ไปได้เลย




เสร็จแล้วครับ คลิก Finish เืพื่อจบการคอนฟิคโปรแกรม
เราสามารถเข้ามาตั้งค่้าใหม่ได้โดยเรียกโปรแกรม Gom Wizard ที่เมนูของ Gom Player นะครับ




หลังจากเสร็จแล้วก็จะเปิดโปรแกรมขึ้นมาดังภาพ ซึ่งเป็นสกินเริ่มต้นของ Gom Player เท่านี้ก็พร้อมใช้งานแล้วครับ

เดี๋ยววันหลังมาดูกันว่าจะพลิกแพลงใช้งานโปรแกรมกันยังไงนะครับ วันนี้ถ้าใครติดตั้งแล้ว ก็ลองมั่วไปก่อนก็แล้วกัน รับรองว่้าเล่นง่ายๆ ไม่ยากครับ

Thursday, December 18, 2008

การคลายข้อมูลที่บีบอัดมาแล้ว ด้วย winrar

ในการคลายข้อมูลที่บีบอัดมาแล้วนั้น (extract) สามารถทำได้ง่ายๆ โดยการเปิดเข้าไปในโฟลเดอร์ที่เก็บไฟล์ไว้


แล้วก็คลิกขวาที่ไฟล์ที่ต้องการคลายข้อมูลออก ซึ่งในภาพคือไฟล์ pic.rar จะมีเมนูขึ้นดังภาพ ซึ่งมีเมนูที่เกี่ยวกับการคลายข้อมูลแสดงขึ้นมาให้เห็นคือ
Extract files ... เป็นการคลายข้อมูลออกโดยสามารถกำหนดจุดหมายที่ไฟล์จะไปบันทึกอยู่ได้
Extract Here เป็นการคลายข้อมูลออกมาไว้ในโฟลเดอร์เดียวกับไฟล์ต้นฉบับโดยอัตโนมัติ
Extract to pic\ เป็นการคลายข้อมูลออกมาไว้ในโฟลเดอร์เดียวกับต้นฉบับแต่ให้สร้างโฟลเดอร์ย่อยที่เก็บไฟล์โดยใช้ชื่อไฟล์มาเป็นชื่อโฟลเดอร์ด้วย
เราจะลองคลายไฟล์ออกมาโดยกำหนดจุดหมายเองโดยคลิกที่ Extract files ...

จะมีหน้าต่างขึ้นมาให้เรากำหนดโฟลเดอร์ที่จะเก็บข้อมูล ให้เราเลือกโฟลเดอร์ที่ต้องการ ซึ่งตอนนี้ผมต้องการให้คลายไปไว้ที่ My Documents จากนั้นก็คลิก OK

โปรแกรมก็จะคลายไฟล์ออกไปไว้ที่โฟลเดอร์ที่เราตั้งค่าไว้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลังจากโปรแกรมทำงานเสร็จแล้วเราจะเห็นโฟลเดอร์ pic ไปอยู่ใน My Documents เรียบร้อยแล้ว เท่านี้ก็เสร็จครับ อ้อ แล้วก็ในการคลายข้อมูลนั้น จะใช้เวลามากน้อยก็ขึ้นอยู่กับปริมาณข้อมูลและเปอร์เซ็นต์การบีบอัดที่ทำมาแล้วด้วยนะครับ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นไฟล์ใหญ่ก็จะใช้เวลาแตกข้อมูลนานหน่อย ซึ่งก็ใช้เวลาพอๆ กันกับตอนที่ทำการบีบอัดนั่นและ
เห็นไหมครับว่าการใช้งานโปรแกรมบีบอัดข้อมูลไม่ใช่เรื่องยากเลย ออกจะสะดวกง่ายดายเกินไปด้วยซ้ำเมื่อนึกถึงสมัยที่ยังใช้ Dos อยู่ นั้น การใช้โปรแกรมบีบอัดข้อมูลต้องนั่งพิมพ์คำสั่งในคอมมานด์เอง ซึ่งต้องกำหนดค่าต่างๆ ให้โปรแกรมทำงานเองทั้งหมด ในขณะที่การทำงานในปัจจุบันแค่คลิกเมาส์สองสามครั้งก็ทำงานเสร็จแล้ว สะดวกกว่ากันเยอะ ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างอีกต่างหาก

การบีบอัดข้อมูลด้วย winrar

การบีบอัดข้อมูลนั้น สามารถทำได้ง่ายๆ โดยจะบีบอัดไฟล์เดียว หรือบีบอัดทั้งโฟลเดอร์ก็ได้ ตัวอย่างถ้าเราต้องการบีบอัดโฟลเดอร์ที่ชื่อ pic ในไดร์ฟ D ก็ทำได้โดยเปิดเข้าไปยังวินโดวส์เอ็กโพลเรอร์

จากนั้นก็เปิดเข้าไปที่ไดร์ฟ D แล้วคลิกปุ่มขวาที่โฟลเดอร์ pic จะมีเมนูให้เลือกดังภาพ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีเมนูที่เกี่ยวกับการบีบอัดซึ่งเป็นของโปรแกรม winrar อยู่หลายตัว คือ
Add to archive ... เป็นการบีบอัดโดยเข้าไปตั้งค่ารายละเอียดต่างๆ ได้อีก
Add to pic.rar เป็นการบีบอัดแบบเร็วที่สุดโดยการนำชื่อโฟลเดอร์ (หรือชื่อไฟล์) มาเป็นชื่อไฟล์ที่บีบอัดแล้ว โดยใช้รูปแบบไฟล์เป็น rar
ส่วนอีกสองเมนู คือ Compress and email ... และ Compress to "pic.rar" and email ก็คือบีบอัดไฟล์แล้วส่งเมล์ต่อไป
ในตอนนี้ก็เอาแบบง่ายๆ ก่อนคือคลิกที่ Add to pic.rar

เมื่อคลิกแล้วโปรแกรมก็จะเริ่มทำการบีบอัดไฟล์ โดยจะมีหน้าต่างเล็กๆ แสดงรายละเอียดการทำงานดังภาพ ซึ่งในการบีบอัดข้อมูลนั้น จะใช้เวลามากน้อยก็แล้วแต่จำนวนข้อมูลว่าจะมีขนาดใหญ่เท่าใด ยิ่งข้อมูลมีขนาดใหญ่ก็ยิ่งใช้เวลามาก นอกจากนี้แล้ว ในการบีบอัดข้อมูลนั้น ข้อมูลแต่ละชนิดจะสามารถบีบอัดให้เล็กได้ไม่เท่ากัน ถ้าข้อมูลที่เป็นตัวอักษร เช่นไฟล์เวิร์ด เอ็กเซล หรือข้อความ จะสามารถบีบอัดได้มากจนเหลือแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ของไฟล์ต้นฉบับก็ได้ แต่ถ้าเป็นภาพก็จะบีบอัดได้น้อย ยิ่งเป็นไฟล์เสียงก็ยิ่งบีบอัดได้น้อยมาก โดยเฉพาะไฟล์ภาพยนตร์จะบีบอัดได้น้อยที่สุด

หลังจากที่โปรแกรมทำงานเสร็จแล้วก็จะปิดตัวเองไปโดยอัตโนมัติ และไฟล์ที่บีบอัดเสร็จก็จะไปบันทึกไว้ที่โฟลเดอร์เดียวกับต้นฉบับ ดังเช่นในภาพ จะเห็นว่าไฟล์ pic.rar ได้บันทึกไว้ที่ไดร์ฟ D เรียบร้อยแล้ว ก็เป็นอันว่าบีบอัดเสร็จแล้วครับ เห็นไหมว่าง่ายๆ จิ๊ดๆ เองน่ะ

Sunday, December 14, 2008

การติดตั้ง Winrar

เริ่มแรกเลยถ้าใครยังไม่มีโปรแกรม winrar ติดตั้งอยู่ในเครื่องให้ดาวน์โหลดไฟล์ติดตั้งมาก่อนนะครับ (หรือจะยืมคนที่มีก็ได้) สำหรับไฟล์ติดตั้งนี้ ผมได้ดาวน์โหลด winrar 3.80 มาจาก http://www.rarlab.com/download.htm ซึ่งมีขนาดไฟล์จี๊ดเดียว เพียงแค่ 1.17 Mb เท่านั้นเอง
เมื่อดาวน์โหลดมาแล้วให้ดับเบิลคลิกที่ไฟล์ wrar380.exe

จะมีหน้าต่างติดตั้งโปรแกรมรันขึ้นมาดังภาพ ให้คลิกที่ Install
ระบบคัดลอกข้อมูลโปรแกรมลงในเครื่องจนเสร็จ


ต่อไปก็เป็นการกำหนดค่าการทำงานของโปรแกรม ซึ่งเราก็ไม่จำเป็นต้องปรับแต่งอะไรให้คลิกที่ OK


สุดท้ายก็เป็นหน้าต่างจบการติดตั้ง ให้คลิกที่ Done ได้เลยครับ


ของแถมอีกนิดคือหลังจากติดตั้งเสร็จมันก็จะเปิดเอ็กโพลเรอร์เข้าไปที่โฟลเดอร์ของ winrar ขึ้นมาอีกทีก็ปิดหน้าต่างของเอ็กโพลเรอร์ไปได้เลย เท่านี้ก็ติดตั้ง winrar เสร็จ พร้อมสำหรับการใช้งานแล้วครับ

winrar โปรแกรมบีบอัดข้อมูลที่ต้องมีประจำเครื่อง

การบีบอัดข้อมูลเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งสำหรับคนใช้งานคอมพิวเตอร์ทั่วไป ซึ่งบางคนก็ยังอาจจะไม่รู้ตัวว่ามันจะจำเป็นมากแค่ไหน แต่ถ้าคุณบีบอัดข้อมูลเป็นคุณจะรู้ว่าประโยชน์ที่ได้นั้นมากมายมหาศาลจริงๆ (ไม่ได้โม้นะ)
ลองคิดดูนะครับว่า คุณมีไฟล์อยู่เยอะพอสมควร แล้วอยากจะก็อปปีไปให้เพื่อนหรือไปใช้งานระหว่างที่บ้านกับที่ทำงาน แล้วทีนี้ ไฟล์ที่คุณอยากได้ คุณอาจจะอยากเขียนใส่แผ่นไป หรือก็อปปี้ใส่แฮนดีไดร์ฟ แต่ขนาดของไฟล์ทั้งหมดที่คุณต้องการมันมากกว่าความจุของแผ่นซีดีหรือแฮนดีไดร์ฟ ปัญหานี้ก็แก้ได้ง่ายๆ ด้วยการใช้โปรแกรมบีบอัดข้อมูลให้มีขนาดเล็กลงเสียก่อน ก็จะทำให้สามารถใส่ให้ซีดีหรือแฮนดีไดร์ฟได้หมด นอกจากนี้แล้ว เมื่อบีบอัดข้อมูลให้ข้อมูลมีขนาดเล็กลงแล้ว ก็จะช่วยย่นระยะเวลาในการก็อปปีหรือเขียนแผ่นลงได้อีก โดยเฉพาะในกรณีที่ไฟล์มีหลายไฟล์มาก เป็นร้อยๆ พันๆ ไฟล์ (อย่างเช่นไฟล์พวกคาราโอเกะที่เป็น midi นั้น ถ้าจะก็อบปี้ไปทั้งชุดก็มีเป็นหมื่นๆ หรืออาจจะถึงแสนก็ได้) ซึ่งถ้าก็อปปี้ธรรมดาก็ใช้ระยะเวลาก็อปปี้นานมาก หรือถ้าจะเขียนใส่แผ่น แค่ตอนที่ดึงไฟล์ลงในโปรแกรมเขียนแผ่นก็ใช้เวลานานเหมือนกัน เพราะระบบต้องมีการลิสต์รายชื่อไฟล์เสียก่อน แต่เมื่อบีบอัดข้อมูลแล้ว แทนที่จะลิสต์ไฟล์หมื่นไฟล์ ก็จะมาลิสต์แค่ไฟล์เดียว ทำให้ประหยัดเวลาไปได้เยอะมาก (ผู้เขียนเคยลองมาแล้ว โปรแกรมลิสต์รายชื่อไฟล์เป็นหมื่นๆ ไฟล์ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20 นาที จนต้องยกเลิกไป แล้วมาบีบอัดไฟล์ก่อนทำให้ทุ่นเวลาไปได้มากเลยทีเดียว)
นอกจากนี้การบีบอัดไฟล์ยังมีประโยชน์ทำให้ข้อมูลที่ส่งต่อไปนั้น คงสภาพเดิมไม่เพี้ยนไปด้วยนะครับ เพราะเคยมีบางครั้งไปดาวน์โหลดไฟล์ธีมมือถือมา ถ้าเป็นไฟล์ต้นฉบับจริงๆ (ยังไม่ได้บีบอัด) ดาวน์โหลดมาแล้วใช้ไม่ได้เฉยเลย แต่พอเปลี่ยนไปโหลดไฟล์ที่บีบอัดมาแล้ว มาคลายไฟล์ออก ก็ใช้งานได้ทุกไฟล์เลย ทั้งๆ ที่ดาวน์โหลดมาจากหน้าเวปเดียวกันแท้ๆ หรือในแง่ของการรักษาความปลอดภัย เรายังสามารถที่จะตั้งรหัสผ่านในการเปิดไฟล์ที่บีบอัดมาแล้วก็ได้ ทำให้สามารถรักษาความปลอดภัยของข้อมูลได้อีกด้วย ซึ่งเราจะมาดูวิธีการใช้งานในแต่ละส่วนกันต่อไป
โปรแกรมสำหรับบีบอัดข้อมูลนั้นมีอยู่หลายโปรแกรมด้วยกัน ระยะแรกๆ ก็เป็นโปรแกรม zip ซึ่งนิยมใช้กันตั้งแต่สมัยที่ยังใช้ระบบปฏิบัติการ Dos กันอยู่โน่นแหละ พอเริ่มมีวินโดว์ ก็มี winzip ซึ่งนิยมใช้กันในระยะต้นๆ ตอนนี้ก็มีออกมาหลายตัวทั้งที่เป็นโปรแกรมฟรี หรือโปรแกรมที่ต้องเสียเงินซื้อ สำหรับโปรแกรมที่แนะนำตอนนี้ก็คือ winrar ครับ เพราะเป็นโปรแกรมที่สามารถเปิดข้อมุลของไฟล์บีบอัดได้หลายรูปแบบ ทั้งแบบ zip ดั้งเดิม และแบบ rar ซึ่งนิยมกันมาก แล้วก็แบบอื่นๆ อีกหลายแบบที่นิยมใชักันในการส่งต่อข้อมูลในอินเทอร์เน็ต เช่น 7z (ของ 7-zip) tar (ของยูนิกซ์/ลีนุกซ์) gzip (ของยูนิกซ์/ลีนุกซ์) CAB (ไฟล์บีบอัดของตัวติดตั้งวินโดว์) iso (ไฟล์อิเมจสำหรับเขียนแผ่น) เป็นต้น ซึ่งทำให้สามารถใช้งานได้หลากหลายมาก แต่สามารถบีบอัดให้เป็น zip หรือ rar เท่านั้น นอกจากนี้ยังสามารถทำเป็นไฟล์ SFX เพื่อสามารถนำไปเปิดในเครื่องที่ไม่มีโปรแกรมสำหรับคลายข้อมูลได้อีกด้วย

ผู้สนับสนุน